การบริหารค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ
การบริหารค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ ปี 2564
เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากงบบริการทางแพทย์เหมาจ่ายรายหัว สำหรับบริการระดับปฐมภูมิ เป็นการสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 258 ข้อ ช.(5) “ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม” และตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 โดยจะทำให้เกิดการเข้าถึงบริการปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้นในหน่วยบริการและในชุมชน ทั้งในเขตและนอกเขตกรุงเทพมหานคร จากหน่วยบริการและแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ร่วมกับคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อสนับสนุนการจัดบริการให้สอดคล้องกับนโยบายการรักษาระยะห่างทางสังคม(Social distancing) และลดความแออัดในหน่วยบริการ
วัตถุประสงค์/ขอบเขตบริการ/เป้าหมาย
- เพิ่มการเข้าถึงบริการระดับปฐมภูมิที่จำเป็นสำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม
- เพื่อสนับสนุนการจัดบริการให้สอดคล้องกับนโยบายการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing)และลดความแออัดในหน่วยบริการ
วงเงินงบที่ได้รับ
ในปีงบประมาณ 2564 วงเงินงบประมาณจำนวน 421.6400 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมบริการปฐมภูมิทั้งในเขตและนอกเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงการนำร่องบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน บริการ Telehealth/Telemedicine บริการด้านการพยาบาล หรือบริการกายภาพบำบัดที่บ้านหรือในชุมชน
กรอบแนวทางการบริหารจัดการค่าบริการ
การบริหารจัดการ
1.ค่าบริการระดับปฐมภูมิ การบริหารจัดการค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ แบ่งเป็น ค่าบริการปฐมภูมิสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่นอกกรุงเทพมหานคร และค่าบริการปฐมภูมิสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
- 1.1 ค่าบริการปฐมภูมิสำหรับหน่วยบริการพื้นที่นอกกรุงเทพมหานคร จำนวน 214.0000 ล้านบาท เป็นการจ่ายเพิ่มเติมให้หน่วยบริการประจำ (ภาครัฐหรือภาคเอกชน) ตามจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิที่ผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และมีความพร้อมและมีศักยภาพการจัดบริการระดับปฐมภูมิ ตามเกณฑ์ศักยภาพที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด ดังนี้
- 1.1.1 ต้องมีข้อมูลชื่อแพทย์คู่กับประชาชน และประกาศให้ประชาชนรับทราบ
- 1.1.2 ต้องมีทะเบียนประชาชนกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มเสี่ยงอย่างน้อยจำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 1 ปี และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงมีข้อมูลสถานะสุขภาพพื้นฐาน
- 1.1.3 มีระบบข้อมูลรองรับการบันทึกผลงานและระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงการรับ-ส่งต่อ ระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลประจำแม่ข่าย (CUP)
- 1.1.4 หน่วยบริการประจำแม่ข่ายมีความพร้อมในการสนับสนุนบุคลากร ทรัพยากร และการจัดการของหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ
หลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่าย
เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบ
- 1.2 ค่าบริการปฐมภูมิสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ่ายให้กับหน่วยบริการ โดยแนวทางและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายต้องผ่านความเห็นชอบ จากคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) ทั้งนี้ อาจปรับการจ่ายเป็นไปตามหลักการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-based Health Care) และอาจบูรณาการไปกับการจ่ายค่าใช้จ่ายในรายการบริการประเภทต่างๆ ได้
การกำกับ ติดตาม ประเมินผล
- การดำเนินงานของหน่วยบริการระดับปฐมภูมิให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด โดยกลไกระดับประเทศ เขต/จังหวัด
- ข้อมูลเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และความครอบคลุมผลงานบริการที่สะท้อนการเข้าถึงบริการระดับปฐมภูมิ
- การกำกับติดตามการดำเนินงานของ PCC ให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด โดยกลไกระดับประเทศ เขต/จังหวัด
2. บริการด้านยา และเวชภัณฑ์ (ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา และค่าบริการด้านยาและเวชภัณฑ์)
จากนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอยรับยาของผู้ป่วยที่โรงพยาบาล โดยให้มารับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว ตามข้อเสนอดำเนินงานเพื่อรองรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมครั้งที่ 9/2562 วันที่ 2 ก.ย. 2562 ครอบคลุมค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาและค่าบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการร่วมกับหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านเภสัชกรรม สำหรับหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 126.7700 ล้านบาท
วัตถุประสงค์
- ลดความแออัดในหน่วยบริการ โดยเฉพาะการรอรับยาหน้าห้องจ่ายยาของหน่วยบริการ
- เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านยาที่มีมาตรฐาน ประสิทธิภาพ คุณภาพ และมีความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยในเขตเมือง
- ลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ COVID-19 ของผู้ป่วยที่โรงพยาบาล โดยขยายบริการด้านเภสัชกรรมมาที่ร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1
- บูรณาการและพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลไปรับยาที่ร้านยาให้มีประสิทธิภาพลดขั้นตอนการรับส่งต่อผู้ป่วย และลดภาระงานของเภสัชกรโรงพยาบาลในการจัดเตรียมยาให้แก่ร้านยาโดยเชื่อมโยงบริการด้านยาทุกระดับตั้งแต่บ้าน ชุมชน บริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชนและท้องถิ่น
แนวทางการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย
- ค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ สำหรับหน่วยบริการแม่ข่าย (โรงพยาบาล)
- 1.1 หน่วยบริการแม่ข่าย (โรงพยาบาล) ที่เข้าโครงการโดยมีรูปแบบบริหารจัดการเครือข่ายร้านยาแบบ หน่วยบริการแม่ข่ายจัดยาให้ผู้ป่วยรายบุคคล (รูปแบบที่ 1) หรือ หน่วยบริการแม่ข่ายจัดส่งยาให้ร้านยาในเครือข่ายจัดและจ่ายยาตามคำสั่งแพทย์ของหน่วยบริการแม่ข่าย (รูปแบบที่ 2) หน่วยบริการแม่ข่ายจะได้รับค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ 30 บาทต่อครั้งบริการ และหรือที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ขอบเขตหน้าที่ของหน่วยบริการ มีดังนี้
- 1) จัดเตรียมยาให้ผู้ป่วย นำส่งร้านยา และบริหารจัดการคลังยาที่ร้านยาร่วมกับร้านยา
- 2) ประสาน ติดตาม และมีการเชื่อมต่อข้อมูล การดูแลผู้ป่วยร่วมกับเครือข่ายหน่วยบริการ (ร้านยา หน่วยบริการปฐมภูมิ หรือหน่วยร่วมให้บริการประเภทอื่น)
- 1.2 หน่วยบริการแม่ข่าย (โรงพยาบาล) ที่เข้าโครงการ โดยร้านยารับผิดชอบในการบริหารจัดการ (จัดหายาทั้งหมดจากร้านยาองค์การเภสัชกรรมหรือจากบริษัทผู้จำหน่าย และการดูแลยาดังกล่าวในคลังร้านยา) (รูปแบบที่ 3) หน่วยบริการแม่ข่ายจะได้รับค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ 50 บาทต่อครั้งบริการ และหรือที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ขอบเขตหน้าที่ของหน่วยบริการ มีดังนี้
- 1) การให้ความรู้ความเข้าใจและความมั่นใจแก่ผู้ป่วยในการเข้ารับบริการรับยาที่ร้านยาและคุณภาพยาที่ร้านยา
- 2) คัดกรองผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การส่งไปรับยาที่ร้านยาและคัดเลือกร้านยาใกล้บ้านให้แก่ผู้ป่วย
- 3) วิเคราะห์ใบสั่งยา (Prescription analysis) และค้นหาปัญหาที่เกี่ยวกับยา (Drugrelated problems) ตามมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมก่อนส่งใบสั่งยาให้ร้านยา
- 4) กำกับติดตาม การดูแลต่อเนื่อง ผู้ป่วยจากการให้บริการที่ร้านยา
- 5) ประสาน ติดตาม และเชื่อมต่อข้อมูล การดูแลผู้ป่วยร่วมกับเครือข่ายหน่วยบริการ (ร้านยาหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือหน่วยร่วมให้บริการประเภทอื่นๆ) โดยอาจจะมีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางไกล
- 1.1 หน่วยบริการแม่ข่าย (โรงพยาบาล) ที่เข้าโครงการโดยมีรูปแบบบริหารจัดการเครือข่ายร้านยาแบบ หน่วยบริการแม่ข่ายจัดยาให้ผู้ป่วยรายบุคคล (รูปแบบที่ 1) หรือ หน่วยบริการแม่ข่ายจัดส่งยาให้ร้านยาในเครือข่ายจัดและจ่ายยาตามคำสั่งแพทย์ของหน่วยบริการแม่ข่าย (รูปแบบที่ 2) หน่วยบริการแม่ข่ายจะได้รับค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ 30 บาทต่อครั้งบริการ และหรือที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ขอบเขตหน้าที่ของหน่วยบริการ มีดังนี้
- ค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ สำหรับหน่วยร่วมบริการด้านเภสัชกรรม (ร้านยา) ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ 70 บาทต่อครั้งบริการ และหรือที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีขอบเขตหน้าที่จัดและจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ ตามมาตรฐานวิชาชีพกำหนด อ้างอิงตามประกาศสภาเภสัชกรรมที่ 56/2563 ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม
- 2.1 จัดทำทะเบียนผู้ป่วย (Patient registration) และ แฟ้มประวัติผู้ป่วย (Patient profile)
- 2.2 ประเมินความเหมาะสมการใช้ยา ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและ สมุนไพร ประเมินอาการอันไม่พึงประสงค์จากยา ให้คำแนะนำการบริหารยา การจัดการเมื่อผู้ป่วยลืมใช้ยา การเก็บรักษายา
- 2.3 การทบทวนประวัติการใช้ยา (Review drug profile) เพื่อป้องกันปัญหาการได้รับยาซ้ำซ้อนจากหน่วยบริการหลายแห่ง และการจัดการยาเหลือ และยาหมดอายุให้ผู้ป่วย
- 2.4 ให้บริการตามมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีทางเภสัชกรรม และประสานกับโรงพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ป่วย
ทั้งนี้ อัตราการจ่ายค่ายาและเวชภัณฑ์ที่ร้านยาเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาและดูแลเพื่อให้บริการกับผู้ป่วยในโครงการเป็นไปตามที่ สปสช.กำหนด
การกำกับ ติดตาม ประเมินผล
- ผลการให้บริการที่ร้านยา แยกตามหน่วยบริการและร้านยาในโครงการ ของแต่ละเครือข่าย
- ความพึงพอใจของผู้ป่วยที่รับบริการ ณ ร้านยาในเครือข่าย
3. ค่าบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน
เพื่อลดความแออัดในหน่วยบริการ และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากโรงพยาบาลของผู้ป่วยกำหนดให้หน่วยบริการ และหน่วยบริการอื่นมีสิทธิได้รับค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ โดยจ่ายเพิ่มเติมสำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยรายเก่าที่บ้าน ตามจำนวนผลงานบริการในอัตราไม่เกิน 50 บาท ต่อครั้งบริการ รายละเอียดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ อัตรา และเงื่อนไขที่ สปสช.กำหนด
4. ค่าบริการสาธารณสุขระบบทางไกล (Telehealth/Telemedicine) ค่าบริการสาธารณสุขระบบทางไกล (Telehealth/Telemedicine) จำนวน 16.4700 ล้านบาท สำหรับหน่วยบริการที่ความพร้อมในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด
วัตถุประสงค์/เป้าหมาย
- เพิ่มการเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและลดความแออัดในการรับบริการ
- เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณสุขโดยการปรับรูปแบบบริการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงสู่สภาวะ New normal โดยในระยะเริ่มต้นการดำเนินงานจะมีพื้นที่เป้าหมายนำร่องในหน่วยบริการที่มีความพร้อมของเทคโนโลยีดิจิทัล ในการพิสูจน์ตัวตน การนัดหมาย และการจ่ายเงิน ที่เชื่อมต่อข้อมูลกับ สปสช.ได้
ขอบเขตบริการ
เป็นบริการสาธารณสุขระบบทางไกลจากผู้ประกอบวิชาชีพในหน่วยบริการกับผู้รับบริการสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นผู้ป่วยรายเก่าในหน่วยบริการมีอาการคงที่และควบคุมโรคได้ดี โดยการให้บริการต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่สภาวิชาชีพประกาศกำหนด
คุณสมบัติหน่วยบริการที่ให้บริการ
- เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีความพร้อมของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือApplication ในการพิสูจน์ตัวตน การนัดหมาย และการจ่ายเงิน ที่เชื่อมต่อกับข้อมูลของ สปสช.ได้
- มีผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขทางไกล ตามมาตรฐานที่สภาวิชาชีพ หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
- มีมาตรฐานการให้บริการระบบบริการการแพทย์ทางไกลตามประกาศกำหนด
หลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่าย
จ่ายให้หน่วยบริการ เป็นค่าบริการสาธารณสุขระบบทางไกล (Telehealth/Telemedicine) โดยจ่ายตามรายการบริการ ตามหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีการที่ สปสช.กำหนด รายละเอียดตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564
การกำกับ ติดตาม ประเมินผล
- การบริหารจัดการและกำกับคุณภาพบริการ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกลไกอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่
- กำกับมาตรฐานการให้บริการและระบบบริการโดยองค์กรวิชาชีพและกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ศึกษาประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อจัดทำข้อเสนอใจการดำเนินงานในระยะถัดไป โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการที่นำร่อง องค์กรวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5. ค่าบริการสาธารณสุข สำหรับหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์หรือด้านกายภาพบำบัด ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือด้านกายภาพบำบัด จำนวน 10.0000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้แก่ประชาชน ดังนี้
วัตถุประสงค์
- เพิ่มการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ ด้านการบริการพยาบาลพื้นฐาน และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันแก่ประชาชนทั้งเชิงรับและเชิงรุก
- เพิ่มการเข้าถึงบริการกายภาพบำบัดในชุมชนที่มีคุณภาพแก่ประชาชน ในกลุ่มผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคได้แก่ หลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury)
- ปรับรูปแบบบริการปฐมภูมิ/กายภาพบำบัด ให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงสู่สภาวะ New normal
เป้าหมาย
- พื้นที่นำร่องคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และคลินิกกายภาพบำบัด เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการในพื้นที่เขตเมืองใหญ่ เขตปริมณฑล และเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก
- นำร่องดำเนินการในคลินิกกายภาพบำบัดที่เป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการในพื้นที่เขตเมืองใหญ่เขตปริมณฑล และเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก
ขอบเขตบริการ และคุณสมบัติหน่วยบริการ
- คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการขอบเขตบริการ เป็นบริการการพยาบาลขั้นพื้นฐาน และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามขอบเขตวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในหน่วยบริการและในชุมชน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ สปสช.กำหนด คุณสมบัติของหน่วยบริการร่วมให้บริการ ด้านคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ มีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
- 1) เป็นคลินิกการพยาบาลฯ ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
- 2) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง เกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563
- 3) มีพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ อย่างน้อย 1 คน และเปิดให้บริการ วันละ 4-6 ชั่วโมง และไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- 4) มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ ตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์
- 5) มีการเชื่อมโยงบริการกับหน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการที่รับการส่งต่อ
- 6) มีความพร้อมของระบบข้อมูลที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ สปสช.
- คลินิกกายภาพบำบัด ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ ขอบเขตบริการ เป็นบริการกายภาพบำบัดในหน่วยบริการและในชุมชน โดยเน้นบริการกายภาพบำบัด ในชุมชน ในกลุ่มผู้ป่วย 3 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury)
คุณสมบัติของหน่วยบริการร่วมให้บริการ ด้านกายภาพบำบัด มีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
- 1) เป็นคลินิกกายภาพบำบัด ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
- 2) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง เกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563
- 3) มีนักกายภาพบำบัดปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ อย่างน้อย 1 คน
- 4) มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ และให้บริการกายภาพบำบัดตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด
- 5) มีการเชื่อมโยงการบริการกับหน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการที่รับการส่งต่อ
- 6) มีความพร้อมของระบบข้อมูลที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ สปสช.
หลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่าย
จ่ายเป็นค่าบริการสาธารณสุขให้หน่วยบริการร่วมให้บริการด้านการพยาบาลและผดุงครรภ์ หรือด้านกายภาพบำบัด โดยจ่ายตามรายการบริการตามหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีการที่ สปสช.กำหนด รายละเอียดตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564
การกำกับ ติดตาม ประเมินผล
- 1) กำกับการดำเนินงานของคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด โดยหน่วยบริการประจำ
- 2) พัฒนาศักยภาพพยาบาลและผดุงครรภ์ นักกายภาพบำบัด และกำกับติดตามการดำเนินงานของคลินิก โดยสภาการพยาบาล สภากายภาพบำบัด
- 3) การบริหารจัดการและกำกับคุณภาพบริการ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขตและกลไกอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่
- 4) ศึกษาประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อจัดทำข้อเสนอการดำเนินงานในระยะถัดไป โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกับสภาการพยาบาล สภากายภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
Average Rating