แนวทางรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมารักษา
สปสช.แจ้งแนวทางโรงพยาบาลที่ประกาศรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมารักษาที่ภูมิลำเนา เบิกค่ารถรับส่งต่อผู้ป่วย-ค่าชุด PPE-ค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ได้ตามหลักเกณฑ์ ย้ำผู้ป่วยประสานงาน รพ.ก่อน-ไม่ควรเดินทางเอง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยปริมาณมาก จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายกับที่เข้ามาใหม่ไม่สมดุลกันทำให้เตียงว่างมีไม่พอ การเพิ่มโรงพยาบาลสนามไม่ทันกับการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยในช่วงนี้ ทำให้มีผู้ป่วยรอเตียงอยู่จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายจังหวัด รวมทั้งโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ประกาศรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา ให้กลับมารักษาตามภูมิลำเนาของตน หรือต่างพื้นที่ได้ โดยโรงพยาบาลจะรับผู้ป่วยเหล่านี้รักษาต่อแบบผู้ป่วยใน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในวันที่ 2 ก.ค. 2564 สปสช.จึงได้ทำหนังสือแจ้งเวียนถึงโรงพยาบาลทุกแห่งว่า โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ดำเนินการจัดให้มีรถพยาบาลหรือพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วยมารักษาต่อ สามารถขอรับค่าใช้จ่ายมายัง สปสช.ได้
หนังสือแจ้งเวียน
รพ.ที่รับผู้ป่วย โควิด-19 กลับมารักษาที่ภูมิลำเนา สามารถขอรับค่าใช้จ่ายดังนี้
- ค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย อัตราจ่ายเป็นไปตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของสำนักงาน โดยกรณีใช้รถยนต์ จ่ายชดเชยตามระยะทางกรมทางหลวงไป-กลับ โดยจ่ายชดเชยที่คำนวณได้แต่ไม่เกินที่เรียกเก็บ ได้แก่
- 1.1 ระยะทางไปกลับ ไม่เกิน 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 500 บาท
- 1.2 ระยะทางไปกลับ มากกว่า 500 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 500 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท
- ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ จ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้งที่มีการรับส่งต่อผู้ป่วย
โรงพยาบาลที่พร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตามภูมิลำเนา ท่านสามารถจัดรถมารับผู้ป่วยได้ทันที และเบิกจ่ายค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงค่าชุด PPE และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อมาที่ สปสช.ได้ ในส่วนของผู้ป่วยนั้นท่านสามารถติดต่อโรงพยาบาลตามภูมิลำเนาของท่านได้เลย เพื่อประสานการรับส่งต่อกลับมารักษาที่โรงพยาบาลแห่งนั้น เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่าไม่ควรเดินทางโดยพลการหรือเดินทางมาเอง เพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากโรงพยาบาลไม่สามารถนำรถมารับผู้ป่วย สามารถใช้รถอาสาสมัคร รถมูลนิธิ ที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย และ รพ.เบิกค่ารับส่งต่อกับ สปสช.ได้เช่นเดียวกัน ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา สามารถประสานได้ที่หมายเลข
สายด่วน สปสช.1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
Average Rating