การบริหารค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว ปี2564 (PP)
บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
วัตถุประสงค์/ขอบเขตบริการ/เป้าหมาย
เป็นค่าใช้จ่าย สำหรับการจัดบริการสาธารณสุขด้วยการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้โดยตรงแก่บุคคลสำหรับประชาชนไทยทุกคน ภายใต้ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพิ่มการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของแต่ละกลุ่มวัย
- ป้องกันหรือลดปัญหาสาธารณสุข หรือภาระโรคที่สำคัญของประเทศ
- สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับพื้นที่
- เพิ่มคุณภาพบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
วงเงินงบที่ได้รับ
ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้รับจำนวน 455.39 บาทต่อผู้มีสิทธิ สำหรับผู้มีสิทธิ 47.6440 ล้านคน เมื่อนำมาจัดสรรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบริการแก่ประชาชนไทยทุกคนตามเป้าหมายประชากรที่ได้รับงบประมาณจำนวน 66.0330 ล้านคน จึงเท่ากับ 328.57 บาท ต่อประชากรไทยทุกคน (บาทต่อคน)
กรอบแนวทางการบริหารจัดการค่าบริการ
การบริหารจัดการ
แนวทางการบริหารจัดการค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปี 2564 แบ่งเป็น ประเภทบริการย่อย 5 รายการ ได้แก่
- บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับประเทศ (P&P National priority program and central procurement)
- บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดำเนินการในชุมชน
- บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาพื้นที่ระดับเขต/จังหวัด (P&P Area based)
- บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน (P&P basic services)
- บริการที่จ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ (QOF)
1.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับประเทศ จำนวน 30.83 บาทต่อคน บริหารจัดการระดับประเทศ โดยมีแนวทางบริหารจัดการดังนี้
1 ค่าวัคซีน จ่ายชดเชยเป็นวัคซีน โดยให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ (เครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถี) ดำเนินการจัดหาวัคซีนตามแผนความต้องการจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปีงบประมาณ 2564 โดยจัดหาผ่านองค์การเภสัชกรรมหรือแหล่งผลิตอื่น เพื่อสนับสนุนวัคซีนให้แก่หน่วยบริการใน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้บริการสำหรับคนไทยทุกคน ทั้งนี้ วัคซีนประเภทต่างๆ ได้แก่
- 1.1 วัคซีนป้องกันโรคพื้นฐานตามแผนการให้วัคซีนของประเทศ (Expanded Program Immunization: EPI) ตามรายการวัคซีนในแผนและวงเงินการจัดหาฯ โดยในปี 2564 รวมวัคซีน MMR สำหรับกลุ่มเป้าหมายเด็กที่ต้องได้รับวัคซีน MMR เข็มที่ 2 ที่อายุ 1 ปี 6 เดือน
- 1.2 วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Influenza: Flu) สำหรับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกกลุ่มอายุ (หืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง หัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด) ผู้ที่อายุ 65 ปี ขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ผู้มีภูมิคุ้ม กันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ) และผู้ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 100 กิโลกรัมหรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
- 1.3 วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (Human Papillomavirus: HPV) สำหรับ กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนหญิงไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กรณีมีเหตุจำเป็น สามารถฉีดให้เด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเด็กหญิงไทย อายุ 11-12 ปี ในพื้นที่รับผิดชอบที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาในโรงเรียน เช่น เด็กหญิงไทยในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือเด็กหญิงไทยที่มีความพิการทางสมอง เป็นต้น
- 1.4 วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า (วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วง) สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ สปสช. กำหนด คือเด็กอายุ 2-6 เดือน จำนวน 2-3 ครั้ง ตามชนิดของวัคซีนที่จัดหาได้
2. ค่าสมุดบันทึกสุขภาพ คู่มือเฝ้าระวังประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยจ่ายให้หน่วยบริการที่กรมอนามัยหรือกรมสุขภาพจิต มอบหมายให้ดำเนิน การจัดพิมพ์/ จัดหา ตามเป้าหมายที่กำหนด เพื่อจ่ายให้หน่วยบริการ ตามจำนวนที่มีการให้บริการ
3. ค่าบริการให้เด็กที่มีผลการตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (TSH) ผิดปกติ ได้เข้ารับบริการต่อเนื่อง โดยจ่ายให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อไปดำเนินการติดตามเด็กให้เข้ารับบริการต่อเนื่องที่หน่วยบริการในพื้นที่ ตามจำนวนการให้บริการ
4. ค่ายา Misoprostal 200 mcg + Mifepristone 200 mg ชนิด Combination pack สำหรับบริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย จ่ายชดเชยเป็นยา โดยให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ ดำเนินการจัดหาผ่านองค์การเภสัชกรรมหรือแหล่งผลิตอื่นเพื่อสนับสนุนยาให้แก่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์ของกรมอนามัย
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ แนวทาง เงื่อนไขการจ่าย รายการที่ 1.1-1.4 เป็นไปตามคู่มือแนวทางปฏิบัติ ในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 สำหรับรายการที่กำหนดในแผนและวงเงินการจัดหาฯ ให้หลักเกณฑ์การจ่ายเป็นไปตามบทที่ 8
2. บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดำเนินการในชุมชน จำนวน 45 บาทต่อคน ตามเป้าหมายประชากรที่ได้รับงบประมาณ โดยใช้จำนวนประชากรไทย ณ 1 เมษายน 2563 เป็นตัวแทนในการจัดสรร
- 2.1 เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในรูปแบบความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจ่ายให้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนฯ ท้องถิ่น) และกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมดำเนินงาน โดยเน้นการบูรณาการร่วมกับกลไกต่างๆ ในพื้นที่เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) หรือ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขตกรุงเทพมหานคร (พชข.) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับพื้นที่ตามประเด็นสุขภาพ กลุ่มเน้นหนัก ได้แก่ กลุ่มเด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ พระสงฆ์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ เรื้อรัง
- 2.2 แนวทางการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย
- 2.2.1 พื้นที่ สปสช.เขต 1-12 เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในรูปแบบความร่วมมือกับ อปท.ตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องโดยจ่ายให้กองทุนฯ ท้องถิ่น ที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมดำเนินงาน และการดำเนินงานให้คำนึงถึงการเข้าถึงบริการของประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพต่างๆ ที่ยัง เข้าไม่ถึงบริการ และการบูรณาการกับ พชอ. ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 หรือที่มีประกาศเพิ่มเติม
- 2.2.2 พื้นที่ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร สำหรับการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในรูปแบบความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร โดยหลักเกณฑ์การจ่ายเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2561 หรือที่มีประกาศเพิ่มเติม ดำเนินงานให้คำนึงถึงการเข้าถึงบริการของประชาชน สิทธิหลักประกันสขภาพต่างๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ และการบูรณาการกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขตของกรุงเทพมหานคร (พชข.) ทั้งนี้ หากมีเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร คงเหลือมากกว่าสองเท่าของรายรับของกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ในปีที่ผ่านมา สปสช.อาจงดการจัดสรรเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการบริหารหรือพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครตามข้อ 6(4) ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2561 หรือที่มีประกาศเพิ่มเติม ให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินวงเงินของปีงบประมาณที่ผ่านมา
- 2.2.3 ค่าบริการตามข้อ 2.2.1 และข้อ 2.2.2 หากมีเงินเหลือ สปสช.จะจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน ในภาพรวมระดับประเทศ
3.บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาพื้นที่ระดับเขต/จังหวัด จำนวน 4 บาทต่อคน ตามเป้าหมายประชากรที่ได้รับงบประมาณ โดยหลักเกณฑ์การจ่าย ดังนี้
- 3.1 จัดสรรให้ สปสช.เขต บริหารจัดการเป็น Global budget ตามจำนวนประชากรไทย ณ 1 เมษายน 2563
- 3.2 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ต้องการเร่งรัดการ เข้าถึงบริการตามนโยบายหรือแก้ไขปัญหาพื้นที่ระดับเขต/จังหวัด ตามความจำเป็นทางสุขภาพ (Health needs) ภายใต้ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งนี้ การดำเนินงานจัดบริการให้คำนึงถึงการเข้าถึงบริการของประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพต่างๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ โดยแนวทางและหลักเกณฑ์การจ่ายระดับเขตฯ ให้ผ่านความเห็นชอบจาก อปสข. ดังนี้
- 3.2.1 แผนงาน/โครงการ และจำนวนงบประมาณที่จะดำเนินการ โดย
- 1) จ่ายตามแผนงาน/โครงการ โดย สปสช.เขต เสนอแผนงาน/โครงการ และจำนวนงบประมาณที่จะดำเนินการทั้งปี ให้ อปสข.เห็นชอบ พร้อมจัดทำนิติกรรมสัญญาหรือขออนุมัติหลักการจ่ายตามแผนงาน/โครงการ ให้แล้วเสร็จ ภายใน ธ.ค. 2563
- 2) กรณียังมีเงิน Global budget ระดับเขต เหลือจากแผนงาน/โครงการ ที่เสนอให้อปสข. เห็นชอบแล้ว ให้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน โดยพื้นที่ สปสช. เขต 1 ถึงเขต 12 ให้กับหน่วยบริการประจำตามจำนวนผู้ลงทะเบียนสิทธิได้ ภายใน ม.ค. 2564
- 3) กรณีเงินเหลือจากการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการตามข้อ 1) ให้ ดำเนินการตามที่ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2564 กำหนด
- 3.2.2 จ่ายให้หน่วยบริการและหรือหน่วยงาน ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 37/2559 เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามคำสั่ง คสช.ที่ 37/2559) ทั้งนี้ หน่วยบริการหรือหน่วยงานต้องรับประกันการส่งมอบผลงาน/ผลลัพธ์บริการที่ระบุในแผนงาน/โครงการและหรือนิติกรรมสัญญา
- 3.2.1 แผนงาน/โครงการ และจำนวนงบประมาณที่จะดำเนินการ โดย
- 3.3 สำหรับการดำเนินงานให้คำนึงถึงการบูรณาการกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)/คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขตของกรุงเทพมหานคร (พชข.) เพื่อการเข้าถึงบริการของประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพต่างๆ และหรือการพัฒนารูปแบบนำร่อง การปฏิรูประบบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่และการบริหารการจ่าย
4. บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน
จำนวนเงิน 239.74 บาทต่อคน เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แก่ประชาชนไทยทุกคนในหน่วยบริการ และหรือนอกหน่วยบริการ โดยปี 2564 รวมบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย Fit test สำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิหรือหน่วยบริการในเครือข่ายหน่วยบริการประจำ จะจ่ายชดเชยผ่านหน่วยบริการประจำ โดยการบริหารจัดการแบ่งเป็น 2 รายการ โดยมีกรอบแนวทางบริหารจัดการ ได้แก่
- 4.1 ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule) จำนวน 36.17 บาทต่อคน เป็นค่าใช้จ่ายบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ต้องการเร่งรัดการเข้าถึงบริการเฉพาะของประชาชนทุกสิทธิ จ่ายให้หน่วยบริการที่ให้บริการ ตามรายการดังนี้
- 4.1.1 บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงการตรวจด้วย HPV DNA Test และการตรวจยืนยันกรณีผลผิดปกติด้วยวิธี Liquid based cytology
- 4.1.2 บริการฝากครรภ์ (ANC)
- 1) บริการฝากครรภ์ (ANC) ครั้งที่ 1 – ครั้งที่ 5
- 2) บริการอัลตราซาวด์ในหญิงตั้งครรภ์
- 3) บริการทันตกรรมป้องกันในหญิงตั้งครรภ์ (การตรวจสุขภาพช่องปาก การขัดและทำความสะอาดฟัน)
- 4.1.3 บริการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์
- 4.1.4 บริการป้องกันและควบคุมกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ทุกกลุ่มอายุ
- 4.1.5 บริการป้องกันและควบคุมภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และโรคฟีนิลคีโตนูเรียในเด็กแรกเกิด
- 4.1.6 บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร (ใส่ห่วงอนามัย/ฝังยาคุมกำเนิด) ในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี
- 4.1.7 บริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย
- 4.1.8 บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร (ใส่ห่วงอนามัย/ฝังยาคุมกำเนิด) หลังยุติการตั้งครรภ์ ในหญิงอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 20 ปีขึ้นไป
- 4.1.9 บริการทันตกรรมป้องกันในเด็กวัยเรียน
- 1) เคลือบฟลูออไรด์ ในเด็กอายุ 4 – 12 ปี
- 2) เคลือบหลุมร่องฟันถาวร ในเด็กอายุ 6 – 12 ปี
- ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายเป็นไปตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564
- 4.2 ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจ่ายแบบเหมาจ่าย จำนวน 203.57 บาทต่อคน จ่ายแบบเหมาจ่าย รวมบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ด้วย Fit test เป็นค่าใช้จ่ายบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกสิทธิ ภายใต้ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข โดยมีแนวทางบริหารจัดการ ดังนี้
- 4.2.1 ร้อยละ 65 จ่ายแบบเหมาจ่ายต่อคน โดยปรับอัตราตามโครงสร้างกลุ่มอายุระดับจังหวัดและให้อัตราแต่ละจังหวัดต่างจากค่าเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 10 (ค่าเฉลี่ยประเทศ ± 10%) จ่ายให้หน่วยบริการประจำ ตามจำนวนผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียน สำหรับประชากรไทยอื่น (สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ) ให้ สปสช.เขต ดำเนินการปรับเกลี่ยให้หน่วยบริการ โดยคำนึงถึงการเข้าถึงบริการของประชาชนไทยทุกสิทธิประกันสุขภาพ และผ่านความเห็นชอบจาก อปสข.
- 4.2.2 ร้อยละ 35 จ่ายตามจำนวนผลงานบริการ โดยจ่ายให้หน่วยบริการที่มีผลงานบริการตามรายการบริการที่กำหนด เป็นข้อมูลผลงานบริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 หรือที่เป็นปัจจุบัน โดยมีรายการบริการ ดังนี้
- 1) จำนวนหญิงหลังคลอดที่ได้รับบริการดูแลหลังคลอดตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป (คน)
- 2) จำนวนผู้รับบริการคุมกำเนิด (ครั้ง)
- 3) จำนวนเด็ก 0-5 ปี ที่ได้รับบริการตรวจพัฒนาการทั้งหมด (คน)
- 4) จำนวนเด็ก 6-12 ปีที่ได้รับบริการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงทั้งหมด (คน)
- 5) จำนวนการได้รับบริการวัคซีน EPI ทุกชนิดในเด็กแรกเกิด ถึงเด็ก ป. 6 (เข็ม)
- 6) จำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปที่ได้รับบริการตรวจคัดกรองเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง (คน)
- 7) จำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปที่ได้รับบริการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้า (คน)
- 4.2.3 สำหรับจำนวนผู้มีสิทธิ กรณีหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. ให้ใช้จำนวนผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนจากศูนย์ทะเบียนข้อมูล สปสช. ณ 1 เมษายน 2563 เป็นตัวแทนในการจ่าย ค่าใช้จ่ายทั้งปี และกรณีหน่วยบริการสังกัดอื่นให้เป็นไปตามจำนวนผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียน ในปีงบประมาณ 2564 สำหรับประชากรไทยอื่นให้ สปสช.เขตดำเนินการปรับเกลี่ยให้หน่วยบริการประจำ โดยคำนึงถึงการเข้าถึงบริการของประชาชนไทยทุกสิทธิประกันสุขภาพและต้องผ่านความเห็นชอบจาก อปสข.
- 4.2.4 สำหรับกรณี สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร การจ่ายค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน สามารถกำหนดรูปแบบการบริการ วิธีและราคา การเบิกชดเชย อาจจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule) หรืออาจปรับการจ่ายเป็นไปตามหลักการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า(Value-based Health Care) และอาจบูรณาการไปกับการจ่ายในรายการบริการประเภทต่างๆ ได้ โดยต้องผ่านความเห็นชอบจาก อปสข. ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการพัฒนานวัตกรรมการดำเนินการที่ใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านดิจิทัล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งนี้ การดำเนินการจัดบริการให้คำนึงถึงการเข้าถึงบริการของประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพต่างๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ และการบูรณาการกับ พชอ./พชข.
5. บริการที่จ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ
จำนวน 9 บาทต่อคน การจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ โดยจ่ายให้หน่วยบริการ เป็นการบริหารจัดการระดับเขต (รวมทั้งผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนกับกรมแพทย์ทหารเรือ และ กรมแพทย์ทหารอากาศ)ตามจำนวนประชากรไทย หลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตาม หัวข้อที่ 9 ในบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว เรื่องการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ
6. หลักเกณฑ์การจ่ายอื่นๆ
- 6.1 การบริหารการจ่ายสำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนกับกรมแพทย์ทหารเรือและกรมแพทย์ทหารอากาศ ให้ สปสช.หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการ บริหารจัดการเป็นการเฉพาะ
- 6.2 กรณีที่จะให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น เช่น ผู้มีสิทธิที่เป็น ผู้ต้องขังผู้ไร้บ้าน เป็นต้น ให้ สปสช.กำหนดแนวทางการบริหารจัดการเป็นการเฉพาะเพิ่มเติมได้ โดยให้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- 6.3 สปสช.สามารถปรับเกลี่ยเงินที่เหลือระหว่างประเภทบริการย่อยข้อ 1 ถึงข้อ 5 ได้ ตามจำนวนประชากรไทยหรือผลงานบริการที่เกิดขึ้นจริง
การกำกับ ติดตาม ประเมินผล
- การเข้าถึงบริการของประชาชนในประเด็น ดังต่อไปนี้
- 1.1. ผลการให้บริการวัคซีน
- 1.2. ผลการให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามรายการ Fee Schedule
- 1.3. ผลงานบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามปริมาณงาน (Workload)
- การเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ท้องถิ่น ของ อปท.จากการบันทึกบัญชี และจัดส่งรายงานทางการเงินตามรูปแบบที่สำนักงานกำหนด ผ่านระบบโปรแกรมออนไลน์ทางเว็บไซต์ http://obt.nhso.go.th ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน
- ผลงานตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ (QOF)
Average Rating