แนวทางเบิกค่าใช้จ่ายการรักษาCovid19-คนไร้สิทธิ

Read Time:11 Minute, 40 Second

แนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ ๐๒๑๐.๐๕/ว๓๐๐๐ ลงวันที่ ๒๐ ก.ค. ๒๕๖๔ และหนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ ๐๒๑๐.๐๕/ว๔๒๓๙ ลงวันที่ ๑ ต.ค.๒๕๖๔

เพื่อให้การขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ของหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินไป ด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๓ ที่เห็นชอบให้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และให้สถานพยาบาล ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาภาครัฐ สภากาชาดไทยปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว รวมทั้งฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ในฐานะหน่วยงานที่ต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและขออนุมัติเบิกจ่ายการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย (ที่ไร้สิทธิการรักษาพยาบาล) ฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ที่เกิดขึ้น ของหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณี โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และที่แก้ไขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

นิยาม

“ผู้ป่วย” หมายถึง ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และให้หมายความรวมถึงบุคคลกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (CoronavirusDisease 2019 (COVID-19)) โดยการฉีดวัคซีนจากสถานพยาบาล ที่ภาครัฐกำหนดและเกิดอาการแพ้วัคซีน หรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน

“ผู้ไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล” หมายถึง คนต่างด้าวไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือผู้ไร้สัญชาติ หรือ ผู้มีประกันสุขภาพคนต่างด้าวหรือแรงงานต่างด้าวเนื่องจากสิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))

“โรงพยาบาล” หมายถึง หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือ โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาภาครัฐ สภากาชาดไทย

๑. เงื่อนไขการให้การรักษาพยาบาลและการขอรับค่าใช้จ่าย

  • ๑.๑ การแบ่งกลุ่มการขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล สำหรับผู้ไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ดังนี้
    • ๑.๑.๑ กลุ่มคนต่างด้าวไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือ ผู้ไร้สัญชาติ เป็นผู้ป่วยที่จำหน่าย ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ และจำหน่ายภายใน ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔
    • ๑.๑.๒ กลุ่มผู้มีประกันสุขภาพคนต่างด้าวหรือแรงงานต่างด้าว เป็นผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาล ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๔ และจำหน่ายภายใน ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔
    • ๑.๑.๓ กลุ่มคนต่างด้าวไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือ ผู้ไร้สัญชาติ หรือกลุ่มผู้มีประกันสุขภาพคนต่างด้าวหรือแรงงานต่างด้าว เป็นผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาล ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔
  • ๑.๒ การรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ให้ดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
  • ๑.๓ เมื่อสิ้นสุดการรักษาพยาบาลผู้ป่วยแล้ว โรงพยาบาลสามารถขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไปที่กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยมิให้เรียกเก็บจากผู้ป่วยเพิ่มเติม
    • (๑) ยา Favipiravir หรือ ยา remdesivir ให้เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข
    • (๒) ค่าชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE ) หากเบิกจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว มิให้นำมาเบิกซ้ำซ้อน หากตรวจพบภายหลังจะดำเนินการเรียกเงินคืน
  • ๑.๔ กรณีส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาพยาบาลยังโรงพยาบาลอื่น โรงพยาบาลต้องจัดการให้มีการจัดส่งต่อตามความเหมาะสม ตามมาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยอาจส่งต่อได้ในกรณี ดังนี้
    • ๑.๔.๑ โรงพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาตัวในเครือข่ายโรงพยาบาลที่จัดส่งไว้สำหรับผู้ป่วย
    • ๑.๔.๒ โรงพยาบาลมีศักยภาพไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วย
    • ๑.๔.๓ ผู้ป่วยหรือญาติมีความประสงค์จะไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่นกรณีโรงพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยไปรับการดูแลรักษายังโรงพยาบาลอื่นตามข้อ ๑.๔.๑ หากผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยปฏิเสธไม่ขอให้ส่งต่อ หรือ กรณีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยประสงค์จะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอื่นตามข้อ ๑.๔.๓. ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง
  • ๑.๕ การขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (Covid-19)) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
    • ๑.๕.๑ ครอบคลุมการเข้ารับการรักษาพยาบาลทั้งประเภทผู้ป่วยนอก และประเภทผู้ป่วยใน
    • ๑.๕.๒ กรณีผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการระบุว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (Covid-19)) (ผลเป็นบวก) ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะครอบคลุมตั้งแต่วันที่โรงพยาบาลรับเข้ามาเป็นผู้ป่วยใน จนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและให้หมายความรวมถึงกรณีที่โรงพยาบาลส่งตัวผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งอื่นด้วย ทั้งนี้ เกณฑ์การตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
    • ๑.๕.๓ กรณีผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการระบุว่าผู้ป่วยไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (Covid-19)) (กรณีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient under investigation: PUI) แต่พบว่าผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเป็นลบ) ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะครอบคลุมตั้งแต่วันที่โรงพยาบาลรับเข้ามาเป็นผู้ป่วยในเพื่อตรวจจนถึงวันที่ผู้ป่วยได้รับแจ้งผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ เกณฑ์การตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
  • ๑.๖ อัตราค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นไปตามบัญชี และอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (Covid-19)) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • ๑.๗ ข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายที่อยู่ในช่วงการรักษาเดียวกัน สามารถขอรับค่าใช้จ่ายได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และมิให้ขอรับค่าใช้จ่ายในรายการที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งอื่นแล้ว
  • ๑.๘ โรงพยาบาลต้องเก็บรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องในการขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไว้เป็นหลักฐานเพื่อการตรวจสอบต่อไป

๒. เอกสารประกอบการพิจารณาในการขอรับค่าใช้จ่าย

  • ๒.๑ เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล (ทั้งนี้ กรณีเป็นสำเนาเอกสาร ทุกฉบับต้องลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง โดยเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบ) ได้แก่
    • ๒.๑.๑ ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย (Patient’s profile)
    • ๒.๑.๒ ภาพถ่ายผู้ป่วย
      • (๑) กรณีจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ (ถ้ามี)
      • (๒) กรณีจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลภายหลังวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ (ต้องมี)
    • ๒.๑.๓ สำเนาเอกสารแสดงตัวบุคคลที่ออกโดยทางราชการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น บัตรประจำตัวคนต่างด้าว หนังสือเดินทาง (Passport) เป็นต้น (ถ้ามี)
    • ๒.๑.๔ เอกสารผลตรวจยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (Covid-19)) ด้วยวิธี RT-PCR หรือ วิธีอื่น ๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
    • ๒.๑.๕ รหัสสงสัยผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (Covid-19)) (SAT CODE) (ถ้ามี)
    • ๒.๑.๖ แบบสอบสวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบติดเชื้อ (Novel Coronavirus 2019) (ถ้ามี)
    • ๒.๑.๗ แบบสรุปเวชระเบียนผู้ป่วย
  • ๒.๒ เอกสารสรุปข้อมูลค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยรายบุคคล ให้ใช้ตามแบบใบสรุปค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย กรณีรับการรักษา COVID–19 ของผู้ป่วยที่ไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล รายบุคคล สำหรับโรงพยาบาล ซึ่งลงนามรับรองโดยผู้อำนวยการโรงพยาบาล
  • ๒.๓ เอกสารสรุปข้อมูลใบสรุปค่ารักษาพยาบาลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (Covid-19)) ให้ใช้ตามแบบรายงานสรุปค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย กรณีรับการรักษา COVID–19 ของผู้ป่วยที่ไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล รายโรงพยาบาล สำหรับโรงพยาบาล ซึ่งลงนามรับรองโดยผู้อำนวยการโรงพยาบาล
  • ๒.๔. โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เก็บเอกสาร/หลักฐานการให้การรักษาพยาบาลตามข้อ ๒.๑ ไว้ที่โรงพยาบาลเพื่อการตรวจสอบภายหลัง ยกเว้น การขอตรวจสอบเป็นกรณีเฉพาะราย

๓. วิธีการขอรับค่าใช้จ่าย

  • ๓.๑ โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการดังนี้
    • ๓.๑.๑ การส่งข้อมูลเพื่อขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ได้ให้บริการตามจริง สำหรับผู้ป่วยที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ให้ส่งในรูปแบบเอกสาร
    • ๓.๑.๒ การส่งข้อมูลเพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ได้ให้บริการตามจริง สำหรับผู้ป่วยที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ ให้ส่งผ่านโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิhttps://state.cfo.in.th/ ตามวิธีการ และขั้นตอนการส่งข้อมูลที่กำ หนดตามเอกสารแนบ “ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนบุคคลไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล (COVID-19) สำหรับหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข”
    • ๓.๑.๓ การเลือกส่งข้อมูล ให้เลือกส่งข้อมูลตามประเภทผู้ป่วยที่สอดคล้องกับการให้บริการที่ระบุรหัสโรค (ICD10) สอดคล้องกับการรักษา ภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่ให้บริการกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) หรือ วันที่จำหน่ายผู้ป่วย (Discharge) กรณีผู้ป่วยใน (IPD) และจะสิ้นสุดการส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่าย โดยถือวันส่งข้อมูล (Sent date) ภายในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ และจะทำการปิดรับข้อมูลในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔
    • ๓.๑.๔ การตรวจสอบผลการจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีโรงพยาบาลที่ส่งข้อมูลเข้าระบบแล้ว สามารถตรวจสอบผลการจ่ายค่ารักษาพยาบาล และดาวน์โหลดหนังสือแจ้งการโอนเงินทางเวบไซต์กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ http://state.cfo.in.th/ หน้าหลัก ข้อ ๕ แจ้งผลการโอนเงินค่ารักษาพยาบาล บุคคลที่ไร้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล (COVID – 19)
    • ๓.๑.๕ การกำหนดจ่ายค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล กำหนดจ่ายเป็นรายเดือนตามเดือนที่ส่งข้อมูล หรือเมื่องบประมาณหมดสิ้น โดยจะตัดยอดข้อมูลเพื่อประมวลผลจ่ายทุกวันสิ้นเดือน โดยกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน และส่งให้กองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โอนเงินให้กับโรงพยาบาลต่อไป
  • ๓.๒ โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการดังนี้
    • ๓.๒.๑ การส่งข้อมูลเพื่อขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ได้ให้บริการตามจริง ให้ส่งข้อมูลในรูปแบบเอกสารภายใน ๓๐ วัน หลังการจำหน่ายผู้ป่วยแล้ว ไปยังกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตำบล ตลาดขวัญ อำเภอ เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐ โดยแบ่งข้อมูลดำเนินการเป็น ๒ ช่วงเวลา ตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ดังนี้
      • (๑) ผู้ป่วยที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔
      • (๒) ผู้ป่วยที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔
    • ๓.๒.๒ การดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และสรุปค่าใช้จ่าย เมื่อกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพได้รับข้อมูลจากโรงพยาบาลถูกต้อง ครบถ้วนตามที่กำหนดแล้ว จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง สรุปค่าใช้จ่าย และขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน และส่งให้กองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โอนเงินให้กับโรงพยาบาลต่อไป ภายในระยะเวลา ๑๕ วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ เวลา ที่ได้รับข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน ตามที่กำหนด

๔. การขอทบทวนผลการพิจารณาการขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาการขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้โรงพยาบาลดำเนินการดังนี้

  • ๔.๑ โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถขอทบทวน เป็นหนังสือภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งการโอนเงิน
  • ๔.๒ หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถขอทบทวนเข้ามาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากทราบผลการพิจารณาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายใน ๕ วันทำการ

ทั้งนี้ ผลการพิจารณาของกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นที่สุด

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
100 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Previous post รายงานการส่งข้อมูล SSOP วันที่ 4 ต.ค. 2564
Next post ชี้แจงแนวทางการขอทักท้วงผลการตรวจสอบก่อนจ่าย กรณีการให้บริการ Home isolation และ Community isolation